การสหกรณ์ในระยะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ถึง พ.ศ. 2494 ได้ขยายกิจการเจริญขึ้นเป็นอันมาก รวมทั้งได้จัดตั้งสหกรณ์ประเภทใหม่ขึ้นช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้มีการดำเนินธุรกิจร่วมกันตามหลักและวิธีการสหกรณ์เพิ่มขึ้นอีก ด้วย โดยในปี พ.ศ. 2494 มีสหกรณ์จัดตั้งแล้วจำนวน 8,680 สมาคม การดำเนินการของสหกรณ์นับว่าประสบความสำเร็จสามารถอำนวยประโยชน์แก่สมาชิกในอันที่จะสร้างตนเองให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนาและสามารถยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้ก้าวขึ้นสู่ระดับที่น่าพึงพอใจได้
ดังนั้น คณะรัฐบาลจึงได้ถือเอาการสหกรณ์เป็นนโยบายส่วนหนึ่งในการปรับปรุงเศรษฐกิจอันสำคัญของชาติ และเพื่อให้การสหกรณ์ในประเทศไทยได้เจริญรุดหน้าสมความมุ่งหมายในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้น รัฐบาลจึงได้ยกฐานะกรมสหกรณ์ขึ้นเป็น "กระทรวงการสหกรณ์"
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พุทธศักราช 2495 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2495 กำหนดให้กระทรวงการสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัด ควบคุมและส่งเสริมการสหกรณ์ และให้แบ่งส่วนราชการภายในกระทรวงการสหกรณ์ ดังนี้
1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวงการสหกรณ์
3. กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
4. กรมสหกรณ์ที่ดิน
5. กรมสหกรณ์ธนกิจ
6. กรมสหกรณ์พาณิชย์
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติแต่งตั้งจอมพล ป.พิบูลสมคราม นายกรัฐมนตรี รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2495 จนกระทั่งถึงวันที่ 17 มีนาคม 2495 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ พลเรือตรีหลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสหกรณ์ สำหรับตำแหน่งปลัดกระทรวงการสหกรณ์ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้พระประกาศสหกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตร รักษาการในตำแหน่งปลัดกระทรวงการสหกรณ์อีกตำแหน่ง จนถึงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2495 จึงได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพงส์ สรีวรรธนะ (พระรุทธอักษร) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายทะเบียนสหกรณ์ขณะนั้นให้เป็นปลัดกระทรวงการสหกรณ์
การยกฐานะกรมสหกรณ์ขึ้นเป็นกระทรวงการสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2495 เป็นผลให้กองตรวจบัญชีสหกรณ์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "กรมตรวจบัญชีสหกรณ์" ในสังกัดกระทรวงการสหกรณ์ โดยแบ่งส่วนราชการเป็น 5 กอง คือ
1. สำนักงานเลขานุการกรม
2. กองประมวลบัญชี
3. กองตรวจบัญชีสหกรณ์ธนกิจ
4. กองตรวจบัญชีสหกรณ์พาณิชย์
5. กองตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ดิน
สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์นั้น คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้นายพงส์ สรีวรรธนะ อธิบดีกรมสหกรณ์เดิมรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวมทั้งกรมสหกรณ์ที่ดิน กรมสหกรณ์ธนกิจ และกรมสหกรณ์พาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 จนถึงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2495 กระทรวงการสหกรณ์จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง ม.ล.อุดม ทินกร เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และต่อมาจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ล. อุดม ทินกร เป็นอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2495
ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พุทธศักราช 2495 กำหนดให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ "ทำหน้าที่ตรวจบัญชีสหกรณ์ทุกประเภท ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ตรวจสอบบัญชีของส่วนราชการต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงการสหกรณ์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค"
สำหรับสถานที่ตั้งของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในระยะแรกอยู่ที่กองเรือกลเดิม ท่าราชวรดิษฐ โดยอยู่รวมกับกรมสหกรณ์ที่ดิน และกรมสหกรณ์ธนกิจ
ในปี พ.ศ. 2506 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พุทธศักราช 2506 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2506 ยุบเลิกกระทรวงสหกรณ์ แล้วโอนงานทั้งหมดไปเป็นของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ทำให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ต้องโอนไปสังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ส่วนกรมที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมสหกรณ์คงเหลือ 2 กรม คือ กรมสหกรณ์ที่ดิน และกรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ และนับตั้งแต่จัดตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติขึ้นใหม่ รัฐบาลก็ได้มีการศึกษาการสหกรณ์มากขึ้น จนถึงปี พ.ศ. 2511 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทย เพราะรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เป็นผลให้สหกรณ์หาทุน สหกรณ์ขายข้าว สหกรณ์บำรุงที่ดิน และสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกันพอที่จะรวมกันได้และตั้งอยู่ในอำเภอเดียวกันได้ควบเข้ากันเป็นหนึ่งสหกรณ์ เรียกว่า "สหกรณ์การเกษตร" ทำให้มีสหกรณ์การเกษตรตั้งอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศในเวลาต่อมา
สำหรับพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 ในส่วนที่เกี่ยวกับงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีแนวปฏิบัติชัดเจนขึ้น คือมีบทบัญญัติให้นายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้งผู้สอบบัญชี เพื่อตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์อย่างน้อยปีละครั้ง การตรวจสอบบัญชีนั้นให้ปฏิบัติตามระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดและให้เสนอรายงานการสอบบัญชีตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด นอกจากนี้ผู้สอบบัญชียังมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการ ผู้ตรวจสอบกิจการ พนักงานอื่น สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกของสหกรณ์ มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมของสหกรณ์ได้ รวมทั้งผู้สอบบัญชียังมีอำนาจสั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชีตามวิธีการและระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดด้วย
ในปี พ.ศ. 2515 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้เปลี่ยนกระทรวงที่สังกัดอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 - 217 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ให้ยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ แล้วให้ตั้ง "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" โดยให้โอนงานสหกรณ์มารวมอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม ครั้งนี้ทำให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบงานสหกรณ์ คงเหลือ 2 กรม คือ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ นอกจากนี้ยังมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 - 141 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 กำหนดให้กลุ่มเกษตรกรที่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้จัดตั้งขึ้นในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ แล้วประมาณ 6,200 กลุ่ม มีสมาชิกประมาณ 330,000 คน ได้รับการส่งเสริมจากทางราชการให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เพื่อแปรสภาพกลุ่มเกษตรกรเป็นสหกรณ์การเกษตรต่อไป ทำให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีภารกิจในการตรวจสอบบัญชีของกลุ่มเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งงานตรวจบัญชีกลุ่มเกษตรกรนี้ทำให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีปริมาณงานในความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นมากและรัฐบาลโดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีประธานคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร ก็ให้การสนับสนุนอัตรากำลังและงบประมาณแก่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับสถานที่ทำงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จากเดิมที่เคยตั้งอยู่ที่กองเรือกลเดิม ท่าราชวรดิษฐ นั้น ต่อมาได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่บริเวณวังเทเวศร เลขที่ 12 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลให้จัดซื้อที่ดินรวมทั้งอาคารจากหม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร โอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทบุรีนฤนาท เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2508 และหลังจากที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้างอาคารที่ทำการเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้เป็นสถานที่ทำงานของข้าราชการมาจนถึงปัจจุบันนี้
อนึ่ง ในการจัดซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ดังกล่าว นอกจากที่ดินจำนวน 7 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา แล้ว ยังรวมถึงอาคารแบบเรือนสามชั้นรูปแบบตะวันตก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และจากการที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้ความสำคัญในการบูรณะอาคารนี้อย่างต่อเนื่องเป็นผลให้คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตย์ ลงมติให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี 2540 และปัจจุบันอาคารนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์จากกรมศิลปากร
|