สมเด็จโต ฯ สมเด็จ 5 รัชกาล
 
          สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต  เป็นชื่อที่ชาวไทยทั้งประเทศรู้จักกันดีตั้งแต่ครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่  เกียรติศัพท์  เกียรติคุณ  และเกียรติยศของท่านขจรขจายไปทั่วทิศ  ไม่มีเสื่อมคลายมาจนปัจจุบัน  แต่ประวัติของท่านนั้นจะมีคลาดเคลื่อนกันไปบ้าง เนื่องด้วยระยะเวลานั้นไม่มีผู้ใดบันทึกกล่าวไว้ จึงต้องมาสืบค้นกันภายหลัง  ที่ได้รวบรวมไว้นี้ ยึดถือเอาจากหนังสือ 2 เล่ม คือ อนุสรณ์ครบ 100 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ 22 มิถุนายน 2515 และชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต จากบันทึกของมหาอำมาตย์ตริ  พระยาทิพโกษา  โดย มล.พระมหาสว่าง เสนีวงศ์ ณ อยุธยา  รวบรวมไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 เป็นหลัก เนื่องจากมีความละเอียดมาก  โดยท่านได้อาศัยภาพฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร เป็นหลักในการเขียน และค้นคว้าเรียบเรียงเพิ่มเติมจากที่ต่าง ๆ อาจมีการคาดคะแนสันนิษฐานบ้าง

         ในครั้งนี้จะได้ตัดตอนเอาเฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญเป็นหลัก  และรวมทั้งวิธีการสั่งสอนเผยแพร่ธรรมปฏิบัติของท่าน มาเพื่อเป็นประโยชน์ในทางพุทธศาสนาเป็นสำคัญ
 
           ประวัติ
          เมื่อครั้งเจ้าพระยาจักรี ตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชรนั้น  วันหนึ่งขณะที่ท่านลาดตระเวณอยู่นั้น ท่านชักม้า วกลัดทางเข้ามายังบ้านปลายนา ใต้เมืองกำแพงเพชร  มาถึงบ้านหลังหนึ่งพบหญิงสาวเดินออกมา จึงกล่าวขอน้ำกินแก้กระหาย  หญิงนั้นนำขันน้ำมาให้แต่โรยด้วยเกสรดอกบัว  เมื่อท่านแม่ทัพรับเอาน้ำมาต้องคอยเป่าเกสรแหวกหาช่องน้ำดื่ม  จึงจะดื่มน้ำนั้นได้  เมื่อดื่มจนหมดขันแล้ว จึงถามว่า เราอยากกระหายน้ำมาก  เหตุไฉนท่านจึงแกล้งเอาเกสรบัวโรยใส่น้ำให้กิน  เจ้าแกล้งทำเล่นแก่เราหรือ หญิงสาวชื่อนางงุด จึงตอบว่าเรามิได้คิดแกล้งท่าน  แต่เห็นท่านกระหายน้ำมาก  ถ้ารีบดื่มจะสำลักน้ำและเป็นอันตรายได้  ท่านแม่ทัพได้ฟังก็เข้าใจ  เห็นว่าพูดจาไพเราะอ่อนหวานและเฉลียวฉลาด  จึงเกิดความพึงพอใจอย่างมาก ได้ไต่ถามถึงบิดามารดาของนาง  เมื่อได้ความว่าไม่อยู่จึงได้รอจนเกือบตะวันตกดิน  จนได้พบกันนายผล นางลา ผู้เป็นพ่อและแม่  และได้เล่าให้ฟังถึงเหตุที่รออยู่นั้น  ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความรักและความปราณีต่อหญิงสาวและใคร่ขอสมัครตัวเป็นลูกเขย  ทั้งสองฝ่ายเจรจากันอยู่นาน  จนสุดท้ายสองตายายก็ตกลงใจยกลูกสาวให้แก่ท่านแม่ทัพ  และมีการรดน้ำส่งตัวมอบหมายฝากฝังกันตามธรรมเนียมในค่ำคืนนั้นเอง  โดยมีกระท่อมโรงนาของนายผลนางลานั้นเองเป็นเรือนหอ  อยู่มาได้ประมาณเดือนเศษ  นางงุดก็ตั้งครรภ์  แต่ท่านแม่ทัพได้รับราชการให้นำกองทัพกลับกรุงธนบุรี  นางงุดเมื่อยังครรภ์อ่อน ๆ ได้ปรึกษากับบิดามารดาที่จะทำการค้าขายระหว่างเมืองเหนือและกรุงธนบุรี  จึงได้รวบรวมเงินจัดการซื้อเรือและสินค้าบรรทุกเต็มลำ ล่องมายังกรุงธนบุรี  จนถึงบ้านบางขุนพรหมฝั่งตะวันออก  ทำการจำหน่ายสินค้าจนหมดก็ได้จัดซื้อสินค้าจากบางกอกและสินค้าเมืองปักษ์ใต้ขึ้นไปขายทางเมืองเหนืออยู่หลายเที่ยว  จนมีกำไรมากพอแก่การปลูกเรือน  จึงได้ปลูกเรือนแพในถิ่นบางขุนพรหมนี้เอง  เพื่อใช้เป็นที่พักสินค้าและอาศัย  ให้นางงุดคลอดลูก  เมื่อได้กำหนด ในวันพุธ เดือนหก ปีวอก พ.ศ. 2318  นางงุดได้คลอดบุตรชายให้ชื่อว่าโต  มีลักษณะแตกต่างจากเด็กอื่น ๆ ทำให้ญาติมิตรพากันทักทายกันไปต่าง ๆ นานา จนนางงุดไม่สบายใจ  ในวันหนึ่งจึงนำทารกน้อยไปฝากตัวต่อพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำพูบน  ที่มีคนนับถือมาก  พระอาจารย์แก้วตรวจพิจารณาดูก็รู้ว่าเด็กคนนี้มีปัญญาสามารถ ทั้งเฉลียวฉลาดในการร่ำเรียน  จะเป็นบุคคลที่เปรื่องปราชญ์อาจหาญ เชี่ยวชาญวิทยาคม ฯลฯ
          เมื่อเด็กชายโต อายุได้ 7 ขวบ นางงุดได้พาไปถวายตัวต่อท่านพระครูใหญ่ ที่เมืองพิจิตร ให้เป็นศิษย์เรียนหนังสือจนถึงอายุ 13 ขวบ เมื่อปีวอก พ.ศ. 2331 จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร  สามเณรโตเป็นผู้ตั้งใจเล่าเรียน  เอาใจใส่ปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์ และกิจการงานในหน้าที่อย่างยิ่ง  จนถึงปีจอ สามเณรโตอายุได้ 15 ปี ก็เริ่มอยากเรียนคัมภีร์ปริยัติธรรมอีก  แต่ท่านพระครูใหญ่ไม่สามารถตอบสนองได้  เนื่องด้วยตั้งแต่ครั้งพม่าเข้ามาตีกรุงนั้น  สมบัติของวัดวาอารามเสียหานหมดไปถึง 2 ครั้ง จึงไม่มีตำราที่จะเล่าเรียนกัน เป็นเรื่องสุดวิสัย  ท่านจึงได้แนะนำให้ไปเรียนกับพระครูเมืองชัยนาท  สามเณรโตจึงได้กราบลาท่านพระครูใหญ่ มาขออนุญาตมารดาไปศึกษาพระปริยัติต่อ  และได้เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์พระครูวัดเมืองไชยนาท  เล่าเรียนพระบาลี พระไตรปิฏกธรรม จนจบด้วยความตั้งใจสม่ำเสมอ สิ่งใดที่ไม่รู้ก็จะถาม รู้เท่าไม่ถึงความก็จะซัก ที่ตรงไหนขัดข้องไม่ตรงกัน ก็หารือ ดังนี้  จนอายุย่างได้ 18 ปี ก็คิดจะมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ อีก  ซึ่งตาผลก็ได้นำสามเณรโตกลับมาถวายตัวต่อพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน (วัดสังเวชวิศยารามในปัจจุบัน) นั้นเอง แต่พระอาจารย์แก้วได้นำสามเณรโตไปให้พระโหราธิบดี และพระวิเชียรช่วยสั่งสอนในเรื่องพระปริยัติธรรมทั้ง 3 ปิฏก ซึ่งสามเณรโตก็หมั่นเพียรร่ำเรียนธรรมอย่างเอาใจใส่  จนสามารถเทศนาได้เป็นที่เลื่องลือ เทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์นั้น สามารถเทศน์ได้ถูกต้อง ทั้งการเทศน์ก็มีวิธีทำเสียงเล็กแหลมบ้าง  ทำเสียงหวานแจ่มใสบ้าง ทำเสียงโฮกฮากบ้าง เป็นกลเม็ดประจำตัว แต่สามเณรโต ก็มิได้มัวเมาหลงไหลด้วยอุปัฏฐากมาก เอาใจใส่แต่การเรียนการปฏิบัติ เพลิดเพลินเจริญสมณธรรม  จนเป็นที่รักใคร่ของท่านโหราธิบดี และคณะโยมอุปัฏฐาก ทั้งหมดจึงได้ปรึกษากันแล้วเห็นพร้อมกันว่าควรจะนำสามเณรโตถวายตัวต่อพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ต่อมาจึงได้นำสามเณรโตเข้ามาที่ท้องพระโรง ในพระราชวังเดิม ณ ฝั่งธนบุรี
          สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าผ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเมื่อทรงเห็นและได้ซักถามจากสามเณรโตแล้ว ทรงพระปราโมทย์เอ็นดูสามเณรยิ่งนักทรงสั่งว่าพระโหราธิบดีนำช้างเผือกเข้ามาถวายและจะเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงสามเณรเอง  โดยให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชมิ วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ในปัจจุบัน)
 
          บรรพชา
          จนเมื่อสามเณรโตอายุได้ 21 ปีบริบูรณ์ สมเด็จพระลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร จึงโปรดให้บวชสามเณรโตที่วัดตะไกร เมืองพิษณุโลก โดยอาราธนาสมเด็จพระวันรัต วัดระฆังให้ขึ้นไปเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แก้วเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทำการบวชนาคหลวง การบวชครั้งนี้กระทำอย่างใหญ่โตเอิกเกริก ในวันพุธขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2340 จากนั้นมาพระภิกษุโตก็ได้กลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดนิพพานาราม โดยมีสมเด็นพระวันรัตเป็นอาจารย์สอนต่อมา
 
          ไม่ต้องการสมณศักดิ์
         เมื่ออายุได้ 30 ปี มีพรรษา 10 พระภิกษุโต  ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "มหาโต" พร้อมได้รับเรือพระที่นั่งกราบ มาไว้ใช้เทศน์โปรดญาติโยมอีกด้วย พระมหาโตได้เป็นพระของเจ้าแผ่นดิน อันเป็นองค์อุปัฏฐากมาตลอด 3 รัชกาล จนกระทั่งสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคต ข้าราชการได้ทูลอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อมพระราชาคณะวัดบวรนิเวศน์วิหาร  ให้เสด็จนิวัติออกเถลิงราชย์เป็นพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหาโตก็ออกธุดงค์หนีหายไปหลายเดือน ทรงรับสั่งให้หาตัวอย่างไรก็ไม่พบ  จึงทรงกริ้วและรับสั่งว่า "ท่านเหาะก็ไม่ได้ ดำดินก็ไม่ได้ แหกกำแพงจักรวาลหนีก็ยังไปไม่ได้" และได้มีคำสั่งถึงเจ้าเมือง ทั้งฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ทั้งพระราชอาณาจักร นำตัวมหาโตส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ คนทั้งหลายก็ออกค้นหา มหาโตกันอย่างโกลาหล ก็ยังไม่พบตัว กระทั่งจับพระอาคันตุกะทุกองค์ส่งไปยังศาลากลาง เมื่อพระมหาโตทราบข่าวและพิจารณาเห็นว่า คนทั้งหลายเดือดร้อน อีกทั้งพระก็ถูกจับไป อดเช้าบ้างเพลบ้าง ได้รับความลำบาก จึงแสดงตนและยอมกลับเข้ามาเฝ้าสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อได้พบมหาโตจึงมีดำรัสว่า "เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดิน ท่านต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน" แล้วมีพระบรมราชโองการให้กรมสังฆการิวางฎีกา ตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม ให้พระมหาโตเป็นพระราชาคณะที่ "พระธรรมกิตติ" เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อออกจากพระบรมราชวังแล้ว ท่านเดินแบกพัดไปเองถึงบางขุนพรหมและบางลำภู บอกลาพระโหราธิบดีและคนอื่น ๆ ตลอดจนพระสงฆ์ทั้งหลายที่วัดมหาธาตุแล้วจึงลงเรือกราบไปบอกพระวัดระฆังว่า "จ้าวชีวิตทรงตั้งฉันเป็นที่พระธรรมกิตติ มาเฝ้าวัดระฆังวันนี้จ๊ะ  เปิดประตูโบสถ์รับฉันเถอะจ๊ะ  ฉันจะต้องเข้าจำวัดเฝ้าโบสถ์ จะเฝ้าวัดตามพระราชโองการรับสั่งจ๊ะ"
          พระธรรมกิตติเป็นที่เลื่อมใสของคนทั้งกรุง โดยเฉพาะเรื่องเทศนานั้น ท่านต้องเทศน์ไม่เว้นแต่ละวัน เพราะท่านรู้จักตัดทอนธรรมะให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรองสำนวน เพราะเทศน์อย่างคำไทยตรง ๆ จะเอาข้อธรรมะอะไรแสดง ก็ง่ายต่อผู้ฟัง ถือเอาความเข้าใจของผู้ฟังเป็นกณฑ์ ไม่ต้องร้อยกรอง บางครั้งจะยกข้อธรรมเป็นอุปมาอุปมัย เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น ทั้งท่านจะถูกนิมนต์เทศน์หน้าพระที่นั่งอยู่เป็นประจำ  แต่ท่านมักจะแสดงเป็นปริศนาธรรมเสมอ พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรด ได้ตรัสชมและพระราชทานรางวัลให้เป็นประจำ ต่อมาได้โปรดเลื่อมสมณศักดิ์ให้กับท่านเป็น "พระเทพกวี" ราชาคณะผู้ใหญ่ และเมื่อปี พ.ศ. 2408 ก็ทรงสถาปนาพระเทพกวี ขึ้นเป็น "สมเด็จพระพุฒาจารย์" เมื่อมีชนมายุ 78 พรรษา 56
 
           ปริศนาธรรม 
        ในครั้งที่สมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระบรมศพ แต่พอเสด็จถึงพระทวารพระที่นั่งนั้น พวกพระสวดอภิธรรม 8 รูป ท่านตกใจ เกรงพระบรมเดชานุภาพ จึงลุกขึ้นไปแอบในพระวิสูตรที่กั้นพระโกศ พระองค์ทรงกริ้วใหญ่ ตรัสว่า "ดูถูกข้า เห็นข้าเป็นเสือ เป็นยักษ์ เอาไว้ไม่ได้ ต้องสึกให้หมด" รับสั่งแล้วทรงพระอักษรถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ให้พระธรรมเสนา นำพระราชหัตถเลขามาถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ท่านรับพระราชหัตถเลขามาอ่านดูแล้วก็จุดธูป 3 ดอก จี้ไปที่กระดาษนั้น ที่ว่างลายพระหัตถ์ แล้วส่งให้พระธรรมเสนา นำมาถวายคืนในเวลานั้น  ครั้นพระธรรมเสนาทูลเกล้าถวาย ทรงทอดพระเนตรเห็นรูกระดาษไหม้ไม่ลามถึงตัวหนังสือ ก็ทรงทราบธรรมปริศนา จึงรับสั่งว่า "อ้อ ท่านให้เราดับ ราคะ โทษะ โมหะ อันเป็นไฟสามกอง งดที งดที เอาเถอะ ๆ ถวายท่าน" แล้วจึงให้พระธรรมเสนา ไปเอาตัวพระสวดมานั่งประจำที่ให้หมด แล้วทรงแนะนำสั่งสอน ระเบียบจรรยาในหน้าพระที่นั่ง ให้พระรู้ระเบียบรับเสด็จแต่นั้นมา
          อีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเดือน 12 ลอยกระทงหลวง  พระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงประทับพระที่นั่งชลังคะพิมาณ (ตำหนักแพ)  พร้อมด้วยฝ่ายในเป็นอันมาก สมเด็จพระพุฒาจารย์โต แจวเรือข้ามฝากฝ่าริ้วขบวนเข้ามา เจ้ากรมเรือตั้งจับเรือแหกทุ่นไว้ มีรับสั่งถามว่าเรือใคร เจ้ากรมกราบบังคับทูลพระกรุณาว่า เรือสมเด็จพระพุฒาจารย์โต  จึงรับสั่งว่า เอาเข้ามานี่  ครั้นเจ้ากรมเรือตั้ง นำเรือสมเด็จฯ เข้าไปถวาย จึงนิมนต์ให้นั่งแล้วรับสั่งว่า "ไปไหน ทำไมเป็นถึงสมเด็จเจ้าแล้ว  เหตุใดจึงต้องแจวเรือเอง เสียเกียรติยศแผ่นดิน" สมเด็จโต จึงกล่าวตอบว่า "ทูลขอถวายพระพร อาตมาทราบว่าเจ้าชีวิตเสวยน้ำเหล้า สมเด็จเจ้าก็ต้องแจวเรือ" พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสว่า "อ้อ จริง จริง การกินเหล้าเป็นโทษ เป็นมูลเหตุให้เสื่อมเกียรติยศแผ่นดินใหญ่โตทีเดียว ตั้งแต่วันนี้ไป โยมจะถวายพระคุณเจ้า จักไม่กินเหล้าอีกแล้ว" สมเด็จพระพุฒาจารย์โต เลยถวายยถาสัพพี ถวายอดิเรก ถวานพระพรลา
 
           เดินร้องไห้รอบวัด 
         จวบจนเมื่อปีมะโรง 2411 สมเด็จำพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต  เมื่อสมเด็จโต ท่านทราบข่าวก็เดินร้องไห้ไปรอบวัด  ทั้งบ่นไปด้วย ร้องไห้ไปด้วย  ว่าสิ้นสนุกแล้ว ครั้งนี้สิ้นสนุกแล้ว เดินร้องไห้ด้วยเสียงอันดังจนใคร ๆ ได้ยินกันทั่ว   ครั้นสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเถลิงถวัลยราชสืบสันตติวงศ์แล้ว  สมเด็จโตท่านจึงทำพระพิมพ์แบบ 5 ชั้น 7 ชั้น 9 ชั้น (เป็นต้นกำเนิดของพระสมเด็จที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน) ด้วยตั้งใจว่าจะถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แต่ก็ไม่ได้ถวาย (มีหลักฐานว่า พระพิมพ์ของท่านที่ทำครั้งหลังนี้ พระครูปลัดสัมภิพัฒน์ ได้แจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ไปสักการะศพของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต เมื่อท่านมรณภาพลงแล้ว)
          สมเด็จพระพุฒาจารย์โต เข้าใจในธรรมะที่ลุ่มลึก ทรงสุขุมคัมภีรภาพ และหยั่งรู้ภูมิธรรมของบุคคลที่สนทนาด้วย ว่าสมควรจะสนทนากับบุคคลนั้นด้วยธรรมขั้นไหน  และเนื่องด้วยสมเด็จฯ มีอายุพรรษาสูงกว่าพระเถระราชาคณะใด ๆ ในครั้งนั้น  ภายหลังที่สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตและสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราช สืบสันตติวงศ์แล้ว  สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้ถวายธรรมเทศนาพิเศษว่าด้วย ทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรเป็นวันแรก
          สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ท่านนิยมธุดงค์วัตร ไปเกือบทุกหนทุกแห่งในประเทศสยาม  และไม่ยึดถือในสมณศักดิ์  ท่านได้หลีกเลี่ยงอยู่ตลอดเวลา มาถึง 3 รัชกาล จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงต้องจำยอม  และเนื่องด้วยท่านอายุมากประการหนึ่ง อีกทั้งยึดถือต่อความถูกต้องและหลักธรรมคำสอนอย่างเคร่งครัด จนบางครั้งดูเหมือนว่าจะมิได้เกรงกลัวต่อพระราชอาญา  แต่ท่านหาได้เป็นผู้เย่อหยิ่ง แข็งกระด้าง กลับเป็นผู้อ่อนน้อม ยำเกรงผู้ใหญ่ พระสงฆ์ แม้กระทั่งคน สัตว์ ทั่วไป ก็ประพฤติเช่นเดียวกัน  ถ้าท่านเห็นพระหรือสามเณรแบกคัมภีร์เรียน ท่านเป็นต้องหมอบก้มลงเคารพเสมอ  การเทศน์ถวายต่อสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็มีเหตุให้ทรงกริ้วอยู่เสมอ  แต่ก็มิได้ถูกพระราชอาญาแต่ประการใด  เพราะสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็เคยบวชเรียน และเข้าใจในพระธรรมอย่างลึกซึ้ง  ก่อนที่จะได้ทรงขึ้นครองราชย์ มาในรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็เช่นเดียวกัน  ดังเช่นครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราช สืบสันตติวงศ์นั้น เจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างทรงปริวิตกว่า อาจมีการจับกุมหรือเกิดเรื่องกันในหมู่ข้าราชการ และพระราชวงศ์ เพราะมีข่าวลือกันต่าง ๆ ไปในทางไม่เป็นมงคล บางคนถึงกับพูดว่า "พ่อคุณ นี่พ่อจะอยู่ได้สักกี่วัน" เพราะขณะนั้นกำลังทรงประชวร บางคนพูดว่าเกรงจะถูกแย่งราชสมบัติ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จฯ จึงได้จุดไต้เข้าหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในตอนกลางวัน เมื่อเข้าไปถึงจวนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แลเห็นท่านจึงได้ถามถึงความประสงค์ สมเด็จฯ ได้เจริญพรตอบว่า "อาตมาภาพ ได้ยินว่าทุกวันนี้ แผ่นดินมืดมัวนัก เพราะมีคนคิดร้ายจะเอาแผ่นดิน ไม่ทราบว่าจะเท็จจริงประการใด ถ้าแม้นเป็นความจริง อาตมาใคร่จะขอบิณบาตเขาเสียสักครั้งหนึ่ง" เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จึงตอบแก่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ว่า "พระคุณเจ้า อย่าได้วิตกเลย  ตราบใดที่กระผมยังมีชีวิตอยู่ จะไม่ให้แผ่นดินมัวมืดลง ด้วยมีผู้ใด แย่งแผ่นดินได้เป็นอันขาด"
 
           แสดงธรรมแก่ปราชญ์หลายศาสนา 
         ในราวปีมะเมีย เมื่อ พ.ศ. 2413 ในรัชกาลที่ 5 ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ได้จัดการประชุมนักปราชญ์ทุกชาติ ทุกภาษา ที่รอบรู้การศาสนาของชนชาติของตน ในการนี้สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ได้อาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ไปเผยแพร่ความรู้ในพระพุทธศาสนาของชาวสยาม พอถึงวันกำหนด  เมื่อสมเด็จโตฯ ไปถึง ปราชญ์ทั้งหลายพร้อมใจกันให้เกียรตินักปราชญ์ไทยก่อน  ท่านจึงขึ้นบัลลังก์แสดงธรรม ต่อที่ประชุมปราชญ์และขุนนางทั้งปวงทันทีว่า "พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา ๆๆๆ..." เป็นดังนี้  ซ้ำๆ กันอยู่เป็นเวลากว่าชั่วโมง  จึงมีผู้สะกิดเตือนท่านว่า ให้ขยายคำอื่นให้ฟังบ้าง สมเด็จโตฯ ก็เปล่งเสียงให้ดังขึ้นกว่าเดิมอีกว่า "พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา ๆๆๆ.." เฉพาะสองคำนี้อยู่อีกกว่าชั่วโมง ก็ถูกสะกิดเตือนอีก  สมเด็จโต ท่านก็ตะโกนดังกว่าครั้งที่สองอีกว่า "พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา ๆๆๆ..." อธิบายว่า การของโลกก็ดี การของชาติก็ดี การของศาสนาก็ดี กิจที่จะพึงกระทำต่าง ๆ ในโลกก็ดี กิจควรกระทำสำหรับข้างหน้าก็ดี กิจควรกระทำให้สิ้นธุระทั้งปัจจุบันและข้างหน้าก็ดี  สำเร็จกิจเรียบร้อยดีงามได้  ด้วยกิจพิจารณาเป็นขั้น ๆ พิจารณาเป็นเปราะ ๆ เข้าไป ตั้งแต่หยาบ ๆ และปานกลาง และขั้นสูง ขั้นละเอียด พิจารณาให้ประณีตละเมียดเข้า จนถึงที่สุดแห่งเรื่อง ถึงที่สุดแห่งอาการ ให้ถึงที่สุดแห่งกรณี ให้ถึงที่สุดแห่งวิธี ให้ถึงที่สุดแห่งประโยชน์ยืดยาวพิจารณาให้รอบคอบทั่วถึงแล้ว  ทุก ๆ คนจะรู้จักประโยชน์คุณเกื้อกูลตน  ตลอดทั้งเมื่อนี้ เมื่อหน้า จะรู้ประโยชน์อย่างยิ่งได้ ก็ต้องอาศัยกิจพิจารณาเลือกเฟ้น ค้นหา ของดีของจริง เด่นชัดปรากฏแก่คน ก็ด้วยการพิจารณาของคนนั่นเอง  ถ้าคนใด สติน้อยถ่อยปัญญา พิจารณาเหตุผลเรื่องราวกิจการงานของใคร ของธรรมดาแต่พื้น ๆ ก็รู้ได้พื้น ๆ ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาเป็นอย่างกลาง  ก็รู้เพียงชั้นกลาง ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง ในข้อนั้น ๆ อย่างสูงสุด ไม่หลับหูหลับตา ไม่งมงายแล้ว อาจจะเห็นผลแก่ตน ประจักษ์แท้แก่ตนเอง ดังปริยายมาทุกประการ จบทิฯ"
          ครั้นจบแล้ว ท่านลงจากบัลลังก์ ก็ไม่มีนักปราชญ์อื่น ๆ ออกปากขัดคอคัดค้านถ้อยคำของท่านแม้แต่คนเดียว  เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์พยักหน้าให้หมู่นักปราชญ์ทั้งหลายขึ้นบัลลังก์ต่อ  ต่างคนก็ต่างแหยงไม่อาจขึ้นแถลงต่อที่ประชุมได้  ถึงแม้ต่างจะตระเตรียมเขียนกันมาแล้ว  แต่คำของสมเด็จโตท่านได้ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ไว้ทั่วถึงหมด  เมื่อปราชญ์ทั้งหลายเถียงกันจนไม่มีผู้ใดกล้าขึ้นแถลงต่อที่ประชุม  จึงต้องเลิกประชุมปราชญ์ในวันนั้นและต่างก็แยกย้ายกันกลับไป
 
           อุปมาเรื่องนิพพาน
          ครั้งหนึ่งมีผู้ทูลถามต่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ถึงเรื่องนิพพาน  มีบางคนว่านิพพานแปลว่าดับบ้าง ออกจากเครื่องร้อยรัดทั้งหลายบ้าง แปลว่าเกิดแล้วไม่มีตายบ้าง หรือตายแล้วไม่เกิดบ้าง บางท่านก็บอกว่าหมายถึงการดับจากกิเลสทั้งปวง  แต่ละท่านเข้าใจกันไปหลายแง่มุม  เกิดความรู้สึกคลางแคลงไม่แจ่มชัดเด็ดขาด  สมเด็จโตฯ ท่านก็บอกว่า ท่านไม่รู้แน่ชัด แต่จะเล่าเป็นอุปมา อุปมัย เปรียบเทียบให้เข้าใจกันเอาเอง ตามเหตุผลและปัญญาของแต่ละท่านจะเข้าใจเอาเองว่า
          "เมื่อกาลครั้งหนึ่ง มีหญิงสาวสองคนพี่น้อง วัน ๆ จ้องคิดอยู่แต่การมีสามี  ทุกวันจะอาบน้ำแต่งตัวทาขมิ้น นุ่งผ้าไหมหวีผม  ผัดหน้านวลเช้ง เพื่อให้ผู้ชายแลเห็นแล้วเกิดรักใคร่ จะได้มาสู่ขอแต่งงาน  ต่อมาไม่นานนัก ก็สมปรารถนาเข้าจนได้  ผู้พี่สาวก็พบคู่เป็นชายหนุ่ม  มีชื่อเสียงมาสู่ขอ  แล้วแต่งงานร่วมหอห้องกันอย่างมีความสุข  เมื่อน้องสาวมาเยี่ยมก็ขอให้พี่สาวเล่าถึงการหลับนอนกับสามีว่า มีรสชาติครึกครื้น สนุกสนานชื่นบานอย่างไร  พี่สาวก็นั่งตรึกตรอง  ไม่รู้จะเล่าถึงความรื่นรมย์หฤหรรษ์ว่าอย่างไรดี  จึงบอกกับน้องสาวว่า ถ้าน้องอยากรู้ว่ามันสนุกสนานแค่ไหน  ก็ขอให้น้องได้แต่งงานดูเองเถิด ต่อมาน้องสาวก็ได้แต่งงานสมใจอยาก  ครั้นพี่สาวมาเยี่ยม จึงได้เอ่ยถามน้องว่า การหลับนอนกับสามี รื่นรมย์สมใจแค่ไหน  ฝ่ายน้องสาวก็ตอบเป็นนัยยะด้วยความระรื่น พร้อม ๆ กันนั่นเอง  ทั้งสองสาวพี่น้องก็นั่งหัวร่อต่อกระซิก ฮิฮะ กันตามประสาคนที่รู้จักรสความรื่นรมย์แห่งโลกสันนิวาส"
          อันอุปมาแผงอารมณ์ขันนี้ เปรียบได้กับข้อธรรมะที่ว่าผู้ศึกษาและปฏิบัติเท่านั้น จะเห็นได้ด้วยตนเอง อันเป็นความรู้เฉพาะตน  เป็นสิ่งที่บอกเล่าและอธิบายได้โดยยาก  เมื่อได้ประสบเองแล้วก็จะเข้าใจโดยง่าย ไม่ต้องถามเซ้าซี้เช่นผู้หญิง 2 คน ได้แสดงมา
 
           การก่อสร้างวัด พระพุทธรูปและพระเครื่อง
          สมเด็จพระพุฒาจารย์โต มีความคิดริเริ่มในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในหลาย ๆ ด้าน  ท่านสร้างวัดและพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ไว้ทั่วไปในภาคกลาง เช่น สร้างวัดอินทรวิหาร ที่บางขุนพรหม พร้อมทั้งพระยืนองค์ใหญ่  สร้างพระนอนที่วัดช่องลม ธนบุรี สร้างพระนั่งที่วัดพิดเพียน อยุธยา สร้างพระนอนที่วัดท่าหลวง แขวงพระพุทธบาท สร้างพระโตที่วัดไชโย อ่างทอง  และสร้างพระยืนที่วัดกลาง โพธาราม ราชบุรี เป็นต้น ซึ่งคนในสมัยนี้คงไม่รู้จักกันดีนัก  แต่ที่เป็นที่นิยมและคนทั่วไปรู้จักกันดี  ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบันนั้นเห็นจะได้แก่การสร้าง "พระสมเด็จ" อันขึ้นชื่อลือเลื่อง ซึ่งท่านได้สร้างพระพิมพ์แบบต่าง ๆ ไว้มากมาย  มีรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป  แต่มีชื่อเสียงทางด้านพุทธคุณ จนเป็นที่เสาะแสวงหากันในปัจจุบันทั้งมีราคาค่างวดสูงลิบลิ่ว คือ พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ ท่านเป็นผู้ที่คิดรูปแบบนี้ขึ้นเป็นองค์แรก โดยมีความหมายอย่างลึกซึ้งยิ่ง คือ รูปเหลี่ยมด้านไม่เท่าที่เป็นกรอบนอก หมายถึง แผ่นดินที่ทรงพระอริยสัจจ์อยู่ วงโค้งในรูปสี่เหลี่ยม หมายถึงอวิชาที่คลุมพิภพอยู่ รูปสามเหลี่ยมในวงโค้ง หมายถึงพระรัตนตรัย รูปพระนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิ์ญาณ ฐาน 3 ชั้น หมายถึง พระไตรปิฎก ดังนี้
          จนถึงปลายปี พ.ศ. 2413 สมเด็จพระพุฒาจารย์โต  ได้มีลายลิขิตแจ้งแก่กรมสังฆการีว่า จะขอพระราชทานราชานุญาตยกเป็นกิตติมศักดิ์ ด้วยเหตุชราภาพ  ไม่สามารถรับราชการเทศน์หรือสวดฉัน ในพระบรมมหาราชวังได้  จากนั้นท่านก็เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ตามสบาย และขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทเสมอทุกปี ถ้าอยู่จำพรรษาที่วัดระฆัง ท่านก็จะกดพระพิมพ์ของท่านไปเรื่อย ๆ จนได้ครบ 84,000 องค์ และปิดทองไปได้ 40,000 กว่าองค์ ตั้งใจว่าจะถวายแด่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ครั้นถึงเดือน 5 ปีวอก พ.ศ. 2451 ท่านไปดูการก่อพระโต วัดบางขุนพรหมใน ก็ไปอาพาธด้วยโรคชราภาพอยู่ 15 วัน ก็มรณภาพ สิริรวมชนมายุ 84 ปีบริบูรณ์
 
ที่มา...หนังสือ 15 พระอริยสงฆ์
 

 

 

นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
 

sanook

kapook

mthai

hunsa

teenee

bloggang
          
          

สำนักนายกรัฐมนตรี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กระทรวงกลาโหม

กระทรวงการคลัง

กระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
 

กระทรวงคมนาคม
 
 

กระทรวงพลังงาน

กระทรวงพาณิชย์

กระทรวงมหาดไทย

กระทรวงยุติธรรม

กระทรวงแรงงาน

กระทรวงวัฒนธรรม

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงอุตสาหกรรม

 
WEB DESIGN BY CORRESPONDENCE : 2011